ไขปริศนาตำรวจคลั่ง ทำไมยิงเด็ก 24 ศพ ทนายชี้เป้าเผารถไม่หลอน แต่วางแผนมาฆ่า
วันที่ 6 ต.ค. 65 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร., นายสุวิทย์ จันหวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู, อัยการคุ้มครองสิทธิ์ และพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดหนองบัวลำภู ได้แถลงข่าวความคืบหน้าของเหตุการณ์ ยืนยันมีผู้เสียชีวิต 38 ราย ผู้บาดเจ็บ 10 คน ส่วนผู้ก่อเหตุยิงภรรยา ลูกติด และยิงตัวเองเสียชีวิตในเวลาต่อมา
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า ผู้ก่อเหตุเป็นอตีตตำรวจถูกให้ออกจากราชการไปเมื่อเดือนมิถุนายน เนื่องจากมีพรฤติกรรมเสพยาเสพติด สำหรับสาเหตุในการก่อเหตุในครั้งนี้ คาดว่าน่าเครียดจากการที่ต้องไปขึ้นศาล ประกอบกับมีอาการหลอนจากการเสพยาเสพติด จากการตรวจสอบสภาพศพเด็กพบว่าถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดเป็นหลัก จากนั้นออกจากศูนย์เด็กเล็ก พบเห็นใครก็ใช้ปืนทำร้าย เจ้าหน้าที่ได้ติดตามปิดล้อมอย่างใกล้ชิด พบผู้ก่อเหตุเสียชีวิตจากการยิงตัวเอง
ส่วนอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุ จากการตรวจสอบเป็นปืน 9 มม. เป็นอาวุธส่วนตัว มีทะเบียนการครอบครองอย่างถูกต้อง โดยเรื่องนี้ทางสำนักงานตำรวจเเห่งชาติจะนำมาเป็นบทเรียน ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอย เบื้องต้นจะต้องเฝ้าระวังคนที่มีพฤติกรรมเเปลกหรือติดยาเสพติด หากพบจะต้องนำไปบำบัดหรือเฝ้าเป็นพิเศษ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวการติดยาแต่มัธยม ผบ.ตร. ยังไม่เชื่อ เพราะการจะเข้ารับราชการตำรวจต้องตรวจสอบประวัติก่อนอยู่แล้ว
ด้าน นายสุวิทย์ จันหวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู บอกว่า หลังจากได้รับรายงานกราดยิง ก็ได้สั่งปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทันที เพื่อให้ผู้ปกครองรับเด็กออกไปด้านนอก รวมถึงจัดเตรียมนักสุขภาพจิตเข้ามาดูแลเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งญาติผู้เสียชีวิตจะได้รับเยียวยา จำนวน 110,000 บาทจากกระทรวงยุติธรรม
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญาวิทยา ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า กรณีที่ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา ภายหลังอาจเกิดความเครียดที่สูญเสียตำแหน่งหน้าที่ไปด้วย อาจจะต้องดูว่ามีข้อมูลเชิงลึกอย่างไร มีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และหน่วยงานได้มีการตรวจสอบอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ ต้องแยกเป็น 2 กรณี คือก่อเหตุในช่วงรับราชการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ปฏิเสธไม่ได้แน่นอน ส่วนกรณีก่อเหตุหลังจากให้ออกราชการแล้ว ต้องตรวจสอบว่าถูกให้ออกจากราชการกรณีใด เช่น พยายามฆ่า เกี่ยวข้องกับสารเสพติด และพิจารณาเรื่องการมีอาวุธประจำกายติดตัว มีใบอนุญาตหรือไม่ เพราะต้องจำกัดเรื่องการซื้อกระสุนปืน เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแล้ว โดยปืนประจำกายที่ซื้อด้วยเงินส่วนตัวไม่ต้องคืนราชการ แต่ถ้าเป็นปืนหลวงก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ก่อเหตุเลือกทำกับเด็ก เนื่องจากเป็นผู้อ่อนเยาว์ เปราะบาง ไม่มีโอกาสต่อสู้ และผู้ก่อเหตุอาจมีความคุ้นเคยในสถานที่นั้น ๆ รู้ทางเข้าออกและเส้นทางหลบหนีอย่างดี ประกอบกับความเครียด และการใช้สารเสพติด ซึ่งมีผลต่อระบบทางความคิดดและประสาท การตัดสินใจจึงแตกต่างจากคนทั่วไป ในทางกลับกัน มีคำถามว่าทำไมไม่ก่อเหตุที่สถานีตำรวจที่เคยทำงาน เพราะว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการฝึกฝนในการใช้อาวุธที่จะยิงตอบโต้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
ส่วนตัวมองอีกมุมว่าหลังก่อเหตุ ผู้ก่อเหตุอาจคิดว่ามีทางหนีได้จึงเผารถเพื่อทำลายหลักฐาน แต่อาจเปลี่ยนใจภายหลัง จึงก่อเหตุยิงภรรยาและลูก ก่อนยิงตัวตายตาม เหตุผลที่เลือกก่อเหตุที่ยิงครอบครัวด้วยนั้นต้องตรวจร่างกายว่าใช้สารเสพติดก่อนหรือไม่ ตนมองว่าผู้ก่อเหตุอาจมีความเป็นห่วงภรรยาและลูก หากยังมีชีวิตอยู่ก็จะถูกสังคมประณาม ซึ่งการเลือกจะฆ่าตัวตายหรือฆ่าคนอื่นก็ไม่ควรทำทั้งสิ้น นอกจากนี้ ตามหลักมนุษยธรรมที่ผู้ก่อเหตุเคยรับราชการมาก่อน ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องมีการควบคุมอาวุธปืนตามนโยบาย ไม่ให้ใช้ปืนยิงชาวบ้านได้ โดยเฉาะข้าราชการตำรวจเอง
ส่วนอดีตผู้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้หรือไม่ มองว่าเป็นเรื่องของระบบโครงสร้าง เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าหากทำไม่ดี ก็ให้ออกราชการ จึงหมดความรับผิดชอบแล้ว แต่หลังจากนั้นจะเป็นปัญหาต่อสังคมต่อหรือไม่ ซึ่งกฎหมายก็ไม่มีอำนาจยึดปืนได้ ควรจะต้องมีคณะกรรมการประเมินสุขภาพจิตใจว่าบุคคลที่ออกจากราชการควรมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองต่อได้หรือไม่ เท่าที่ทราบสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็พยายามจะตรวจสุขภาพจิตกับเจ้าหน้าที่ที่ใช้อาวุธให้ได้มากที่สุด
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า กรณีผู้กระทำความผิดเสียชีวิต คดีอาญาระงับ ส่วนการชดใช้เยียวยาหากผู้กระทำความผิดมีทรัพย์สิน ผู้เสียหายก็จะได้รับการชดใช้ แต่หากไม่มีทรัพย์สินก็ต้องรอหน่วยงานราชการเยียวยาแทน
สำหรับตนมีข้อสงสัย เรื่องประวัติการใช้ยาเสพติดของสำนักงานตำรวแห่งชาติ เมื่อตรวสอบว่าใช้ยาเสพติดทำไมจึงรับราชการมาได้จนถึงอายุ 34-35 ปี ทำไมไม่เอาออกไปก่อนหน้านั้น อยากทราบว่ามีการตรวจสารเสพติดกับข้าราชการบ่อยมากน้อยเพียงใด อีกประเด็นคือการพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ มีใบอนุญาตหรือไม่ เพราะไม่ได้รับราชการแล้ว
“เวลาที่เราเห็นข่าวแบบนี้ อยากจะฝากว่าอย่าไปให้ค่าให้ราคาคนที่กระทำความผิดโดยเด็ดขาด ไม่ต้องสาร อย่าให้เหมือนเคสที่โคราช ที่มีคนไปให้เงินให้ทอง เคสนี้ก็ไม่รู้ว่าไปเลียนแบบพฤติกรรมแบบนั้นมาหรือเปล่า เราต้องร่วมกันประณาม อย่าไปให้ค่า อย่าไปให้ความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้นเลย ทุกคนต้องประณามเพื่อไม่ให้รอบหน้ามีอีก อย่างเคสนี้ที่เขาทำแบบนี้แสดงว่าเขาอาจจะเห็นบทบาทบางอย่างที่ทำไปแล้วเป็นฮีโร่ มันก็เลยเลียนแบบ ส่วนทางญาติผู้ก่อเหตุควรต้องซ้ำเติมด้วยซ้ำ เลี้ยงดูยังไงให้มายิงคนอื่น ไม่ควรต้องให้ความช่วยเหลือเลย” นายรณณรงค์ กล่าว
ส่วนการที่เผารถหลังก่อเหตุ ตนคิดว่าอาจมีบุคคลอื่นร่วมก่อเหตุ เผาหลักฐานให้สาวไม่เจอ ตรวจดีเอ็นเอไม่ได้ ตนไม่เชื่อว่าเขาจะทำเพียงคนเดียว ต่างจากเคสอื่น ๆ คิดว่าการเตรียมอาวุธและศึกษาเส้นทางก่อเหตุ ต้องมีคนที่ให้คำแนะนำ นอกจากนี้ เรื่องของความรับผิดชอบไปต่อไม่ได้ เนื่องจากคนก่อเหตุก็เสียชีวิตแล้ว ญาติก็เสียชีวิตตามไปด้วย และไม่ได้อยู่ในหน่วยงานราชการแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ แต่ทางมนุษยธรรมก็มีโอกาสที่จะเข้ามาช่วยเหลือดูแล “ผมขอประณามผู้ก่อเหตุ ไม่อยากให้ค่าให้ราคา คนทำแบบนี้สมควรต้องถูกประณามทั้งหมด รวมถึงญาติด้วย เพื่อให้รอบหน้าไม่กล้ามีอีก”
นายรณณรงค์ กล่าวต่อว่า ไม่จำเป็นต้องยกย่องคนที่ทำความผิดเป็นฮีโร่ ครวบครัวก็ต้องถูกซ้ำเติมด้วย เคสนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีคนเอาเงินไปให้ญาติคนก่อเหตุ เคสกราดยิงที่โคราช “อย่าให้ผมเห็นว่าใครเอาเงินไปให้อีก ผมจะเป็นคนแรกที่เข้าไปด่าเลย”
นอกจากนี้ ตอนมองว่าหลังจากทราบว่าผู้ก่อเหตุมีการใช้สารเสพติดตั้งแต่แรก ทำไมผู้บังคับบัญชาจึงไม่ให้ออก แต่ทำงานต่อมาได้ตั้งนาน คนที่ให้การช่วยอยู่ไหน วันนี้ควรต้องออกมาตอบคำถามครอบครัวเหยื่อ และต้องรับผิดชอบ เพราะถ้าวันนั้นให้ออกราชการวันนี้เด็กก็คงไม่ตาย ไม่ใช่จับโยกย้าย เพราะการย้ายโรงพักไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
VDO